วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ภาพประทับใจของ Impression Sunrise


อิมเพรสชันนิซึม

มูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดศิลปะคตินิยมอิมเพรสชันนิซึม พอสรุปได้ดังนี้
  • เป็นไปตามกฎวิวัฒนาการของธรรมชาติ ทุกสิ่งทุกอยางย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามครรลองของชีวิต สภาพหนึ่งสู่สภาพหนึ่ง ไม่สามารถหยุดอยู่กับที่ และความคิดร่วมสมัยย่อมเบื่อหน่ายกับสิ่งซ้ำซาก จำเจ มีกฎเกณฑ์ยุ่งยาก ไม่มีอิสระ ไม่มีการท้าทายสติปัญญา คตินิยมศิลปะแบบเก่า ๆ อาทิเช่น นีโอ-คลาสิค โรแมนติด และเรียลลิสม์ ซึ่งเกิดขึ้นและหมดความนิยมลง ล้วนเป็นบทพิสูจน์อันดีสำหรับกฎวิวัฒนาการ อนึ่ง สภาพของสังคม เศรษฐกิจ และ ปรัชญาของชีวิตได้แปรเปลี่ยน ไป คำว่าอิสรภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ เป็นหลักทั่วไปในการแสวงหาทางออกใหม่ ลัทธิปัจเจกชนได้รับการนับถือ ทางด้านเศรษฐกิจเป็นไปตามแนวเสรีนิยม ศิลปินต้องดำรงชีพอยู่ด้วยตนเองไม่มีข้อผูกพันหรือรับคำสั่งในการทำงานดังแต่ก่อน
  • ความก้าวหน้าทางวิชาการต่าง ๆ รุดไปอย่างรวดเร็วมาก โดยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์การค้นคว้าทฤษฎีแม่สีแสงอาทิตย์เพิ่มเติม และนักวิทยาศาสตร์ชื่อ เชฟเริล (Chevereul) ได้เขียนตำราเกี่ยวกับทฤษฎีสี เป็นมูลเหตุจูงใจให้ศิลปินเห็นทางใหม่ในการแสดงออก ประกอบกับได้มีการประดิษฐ์กล้องถ่ายรูป ทำให้เขียนภาพเหมือนจริงลดความนิยมลงไป เพราะสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ให้ผลิตผลที่เหมือนจริงและรวดเร็วกว่า
  • การคมนาคมโดยทั่วไปได้รับการพัฒนาให้รวดเร็วขึ้น ความเคลื่อนไหวถ่ายเททางศิลปวัฒนธรรมของชาติต่างเป็นไปโดยสะดวก ทำให้ศิลปินมีทรรศนะกว้างขวาง มีความเข้าใจต่อโลกภายนอกมากยิ่งขึ้น ดังตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1867 มีการแสดงนิทรรศการศิลปกรรมของญี่ปุ่นขึ้นในปารีสซึ่งก่อให้เกิดแรงดลใจต่อศิลปินหนุ่มสาว หัวก้าวหน้าในยุคนั้นอย่างมากเป็นต้น
  • มีการพัฒนาสืบทอดความคิดของศิลปินรุ่นก่อนหน้านี้ ได้แก่พวกเรียลลิสต์ ซึ่งนิยมสร้างจากความเป็นจริงที่สามารถมองเห็นได้ และพวกจิตรกรหนุ่มกลุ่มธรรมชาตินิยม โดยเฉพาะพวกกลุ่มบาร์บิซง ซึ่งรวกันไปอยู่ที่หมู่บ้านบาร์บิซง ใกล้ป่าฟงแตนโบล อยู่ไม่ห่างจากปารีสเท่าใดนัก กลุ่มนี้จะยึดถือเอาธรรมชาติ อันได้แก่ ขุนเขาลำเนาไพร เป็นสิ่งที่มีความงามอันบริสุทธิ์และมีคุณค่าสูงสุดพวกเขาจะออกไปวาดภาพ ณ สถานที่ที่ต้องการ ไม่มัวนั่งจินตนาการอยู่ในห้องดังแต่ก่อน นอกจากนี้ยังได้รับแรงดลใจจากจิตรกรอังกฤษสองคน คือ จอห์น คอนสเตเบิล และวิลเลียม เทอร์เนอร์ ซึ่งมีแนวการสร้างงานคล้ายกลับกลุ่มบาร์บิซง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น